โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์
จากปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และความเสี่ยงจากพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 ส่งผลให้หน่วยงานจำนวนมากในประเทศไทย ให้ความสนใจกับซอฟต์แวร์กลุ่มหนึ่งอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ โอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ (OSS: Open Source Software) อันเป็นซอฟต์แวร์ที่เปิดแผยหลักการหรือแหล่งที่มาของเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์ (หลายๆ คนจะหมายถึง รหัสโปรแกรมต้นฉบับ : Source code) ให้บุคคลภายนอกได้ใช้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทำการแก้ไข ดัดแปลงและเผยแพร่ซอร์สโค้ดได้ภายใต้เงื่อนไขทางข้อตกลงทางกฎหมาย เช่น สัญญาอนุญาตสาธารณะทั่วไปของกนู (GPL) และสัญญาอนุญาตแจกจ่ายซอฟต์แวร์ของเบิร์กลีย์ (BSD)
ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อซอฟต์แวร์เสรี ในช่วง พ.ศ. 2526 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 คำว่าซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สได้ถูกนำมาใช้แทนคำว่า “ฟรี” เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและให้ความรู้สึกสบายใจต่อทั้งผู้ใช้และผู้พัฒนา รวมถึงคำว่า ฟรี ในลักษณะของคำว่า “เสรี” นอกเหนือจากคำว่าฟรีในลักษณะไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้ใช้งานรวมถึงผู้พัฒนาสามารถนำซอฟต์แวร์มาใช้งาน แก้ไข แจกจ่าย โดยสามารถนำมาปรับปรุงทั้งในลักษณะส่วนตัว หรือในหน่วยงานเอกชนได้ ทั้งนี้คำว่า “เสรี” ในความหมายของโอเพนซอร์ส จะครอบคลุมถึง
- เสรีภาพในการใช้งาน
- เสรีภาพในการศึกษา
- เสรีภาพในการพัฒนาปรับปรุง
- เสรีภาพในการแจกจ่าย
จากความหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่าโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์เป็นซอฟต์แวร์ทางเลือก (Alternative Software) ที่น่าสนสำหรับคนไทยจำนวนมาก เนื่องจากช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้จากการที่อนุญาตให้นักพัฒนาโปรแกรมต่างๆ สามารถศึกษาพัฒนาต่อยอด รวมทั้งเป็นเครื่องมือการศึกษาการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษา นอกจากนี้หลายๆ ซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้มักจะเป็นซอฟต์แวร์ฟรี คือ สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณ และหลีกเลี่ยงปัญหาการใช้งานซอฟต์แวร์โดยที่ผู้ใช้ไม่อนุญาต หรือผิดลิขสิทธิ์นั่นเอง
ความหมายของโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์
“Opensource” หรือเขียนทับศัพท์เป็นคำไทยว่า “โอเพ่นซอร์ส” คือคำที่ใช้แทนคำว่า ฟรีซอฟต์แวร์ (Free Software) หรือซอฟต์แวร์เสรี ที่ให้เสรีภาพการติดตั้ง การเรียกใช้งาน, แก้ไขปรับปรุง และเผยแพร่โปรแกรม ไม่ว่าจะโดยการจำหน่ายหรือให้ฟรีก็ตาม แต่ที่สำคัญคือต้องแถมซอร์สโค้ด (Source Code) ไปด้วย
Opensource คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์โดยวางอยู่บนแนวคิดที่อาศัยความร่วมมือของนักพัฒนาทั่วโลก เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ที่ดีกว่า และเป็นสิทธิของทุกๆ คนร่วมกันอย่างแท้จริง
Opensource คือ ซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้งาน ศึกษา แก้ไข และเผยแพร่ (ไม่ว่าจะแก้ไขหรือไม่ ไม่ว่าจะคิดราคาหรือไม่) ได้อย่างเสรี ปราศจากเงื่อนไขเพิ่มเติม (เช่น คิดค่า License หรือต้องเซ็นสัญญาพิเศษ) โดยการพัฒนาต้องเปิดเผยซอร์สโค้ด (รหัสต้นฉบับ) ให้สาธารณะนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงานอย่างไร้พรมแดนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดัง นั้นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และซอฟต์แวร์เสรี จึงมีความหมายเดียวกัน และใช้แทนกันได้ โดยการพัฒนาซอฟต์แวร์จะอาศัยหลักการที่มีเงื่อนไขที่ชัดเจนของ License ที่เรียกว่า Opensource License (เช่น GPL, BSD) การจะเป็นซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สหรือไม่ ดูได้จาก License ที่ใช้ว่าตรงตามเกณฑ์ข้างต้นหรือไม่ ทั้งนี้เงื่อนไขต้องเปิดให้ศึกษาและแก้ไขได้อย่างเสรี ผู้ที่ได้รับซอฟต์แวร์ตาม License นั้นไปจะได้รับสิทธิข้างต้นไปทั้งหมด เช่นสามารถนำไปลงกี่เครื่องก็ได้ หรือทำซ้ำกี่ชุดเพื่อการใช้งานหรือขายก็ได้ หรือปรับปรุงแล้วเผยแพร่ต่อไปก็ได้
The Open Source Initiative (OSI) ได้ให้คำจำกัดความของโอเพนซอร์สตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. การเผยแพร่ซ้ำโดยเสรี – Free redistribution
2. ซอร์สโค้ด – Source code
3. งานต่อเนื่อง
4. การคงความสมบูรณ์ในซอร์สโค้ดของผู้เขียน
5. การไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่ม
6. การไม่เลือกปฏิบัติในการจำกัดสาขาการใช้งาน
7. การเผยแพร่สัญญาอนุญาต
8. สัญญาอนุญาตต้องไม่เจาะจงผลิตภัณฑ์
9. สัญญาอนุญาตต้องไม่จำกัดซอฟต์แวร์อื่นๆ
10. สัญญาอนุญาตต้องเป็นกลางทางเทคโนโลยี